เกษตรจังหวัดกาญจนบุรีแนะนำการป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืชแก่เกษตรกร
นายบำรุง สังข์สว่าง เกษตรจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดกับพี่น้องเกษตรกรบ่อย ๆ นอกจากเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำแล้ว เรื่องโรคแมลงศัตรูพืชก็เป็นอีกเรื่องที่พบบ่อยมากโดยเฉพาะในภาวะที่สภาพอากาศของโลกร้อนขึ้น ความแปรปรวนของสภาพอากาศทำให้โรคแมลงชนิดใหม่เกิดมากขึ้น และยังเหมาะสมต่อการแพร่และขยายพันธุ์ของโรคและแมลงมากขึ้น ซึ่งพี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้สารเคมีในการฉีดพ่นทำลาย ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และยังทำลายสภาพแวดล้อมมีสารเคมีตกค้างในผลผลิตอีกด้วย แต่ในขณะนี้ทั่วโลกมีการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น มีการแข่งขันในด้านราคาและความปลอดภัยของผลผลิต จึงขอแนะนำให้เกษตรกรหันมาทบทวนและใช้วิธีการป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืช โดยวิธีผสมผสานที่เหมาะสม ดังนี้ 1.วิธีเขตกรรม โดยเราจะต้องทำความรู้จักกับศัตรูของพืชผักแต่ละชนิด แต่ละพื้นที่ และฤดูที่ระบาด แหล่งพืชอาศัยตลอดจนวงจรชีวิตของโรคแมลงศัตรูพืช จึงใช้วิธีเขตกรรมเช่น ไถ จับทำลายตัดวงจรชีวิต ทำลายแหล่งพืชอาศัย ฯลฯ 2.ใช้กับดักแสงไฟ เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีมากกับพวกผีเสื้อกลางคืนที่เป็นศัตรูผัก ข้าว จะลดปริมาณตัวแก่หรือผีเสื้อที่จะมาวางไข่ได้มาก วิธีคือ ใช้หลอดไฟแบคไลท์หรือหลอดไฟนีออน หรือตะเกียงเจ้าพายุแขวนในที่โล่งเปิดไฟในช่วงหัวค่ำประมาณ ๑-๕ ทุ่ม แขวนสูงจากพื้นประมาณ ๔ เมตร ควรอยู่เหนือบ่อน้ำหรือหากไม่มีบ่อก็อาจใช้กระมังขนาดใหญ่วางใต้หลอดเพื่อให้แมลงตกลงและจับเก็บทำลายหรือจะผสมผงซักฟอกเพื่อลดแรงตึงผิวแมลงก็จะตกลงมาแล้วจมน้ำตาย 3.ใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ - ตัวห้ำ ซึ่งกินพวกเพลี้ยอ่อนต่าง ๆ - ตัวเบียน ได้แก่ แตนเบียน ก็จะทำลายหนอนต่าง ๆ โดยการวางไข่ในตัวหนอน - เชื้อจุลินทรีย์ เช่น เชื้อบักเตรีบาซิลลัสธูรินเจนซีสทำลายหนอน เชื้อรา บิวเวอร์เรีย , ไตรโคเดอร์ม่า ๔. การใช้สารเคมี ถือเป็นวิธีสุดท้ายแต่ก่อนใช้ต้องปรึกษานักวิชาการ เพื่อจะได้ใช้สารเคมีอย่างถูกต้องกับโรคแมลงในอัตราที่เหมาะสมไม่มีสารตกค้างในพืชผักและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี และสำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ ที่มา สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี