ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นำชาวบ้านห้วยยาง ตำบลคำใหญ่ อำเภอห้วยเม็ก ร่วมลงแขกดำนา เพื่ออนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม สร้างความสามัคคีในชุมชน พร้อมตั้งเป้าผลิตพันธุ์ข้าวดีไว้ให้กับเกษตรกร คาดอีก 3 ปี จะเพิ่มผลผลิตข้าวสร้างรายได้ให้จังหวัดและประชาชนชาวกาฬสินธุ์ไม่น้อยกว่าปีละ 650 ล้านบาท
เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ที่แปลงศึกษาเรียนรู้ นางละมุล ศรีจันทร์ฮด หมู่ที่ 5 บ้านห้วยยาง ตำบลคำใหญ่ อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้มีการจัดงานวันรณรงค์การทำนา โดยวิธีการปักดำ ตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพข้าวปี 2555 โดยมีนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้ทางอำเภอห้วยเม็กจัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวตามกระบวนการปฏิบัติดีและเหมาะสม (GAP) ส่งเสริมการผลิตและใช้เมล็ดข้าวพันธุ์ดี สร้างเครือข่ายและส่งเสริม กลยุทธด้านการตลาดเพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่ออาชีพการทำนา โดดำเนินกิจกรรมจัดทำแปลงผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ดี กิจกรรมการผลิตข้าวคุณภาพดีและกิจกรรมพัฒนาการแปรรูปการตลาดและเครือขาย ดำเนินการในพื้นที่หมู่ที่ 9 ตำบลกุดโดน และหมู่ที่ 5 ตำบลคำใหญ่ มีเกษตรกรเข้าร่วม กลุ่มละ 25 คน รวม 50 คน ตั้งเป้าจะสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวดีประมาณ 60 ตัน
จากนั้น นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายวีระ คำหล้า นายอำเภอห้วยเม็ก ได้นำชาวบ้านห้วยยาง ลงแขกดำนาในแปลงนา เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของไทยเกี่ยวกับการทำนา โดยเฉพาะการสละแรงงาน เป็นการสร้างความสามัคคีของผู้คนในชุมชนด้วย
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า มีนโยบายในการส่งเสริมการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนาของจังหวัดกาฬสินธุ์ ประการหนึ่งก็คือการเพิ่มรายได้ ผลผลิตข้าวต่อไร่ให้กับพี่น้องเกษตรกร ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยในการเพิ่มรายได้/ปริมาณผลผลิตข้าวต่อไร่ ก็คือเมล็ดข้าวพันธุ์ดี ที่ผ่านมาเกษตรกรมีปัญหาค่อนข้างมากในเรื่องของการขาดแคลนเมล็ดข้าวพันธุ์ดี เนื่องจากเมล็ดข้าวพันธุ์ดีจากแหล่งผลิตของทางราชการมีไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ทำให้เกษตรกรต้องใช้พันธุ์ข้าวเกินกว่า 3 ปี เป็นจำนวนมาก ดังนั้น จังหวัดกาฬสินธุ์ จึงได้จัดทำโครงการเปลี่ยนพันธุ์ข้าว 1.71 ล้าไร่ ทั้งจังหวัดภายใน 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2555-57 อีก 3 ปีข้างหน้าจังหวัดกาฬสินธุ์จะผลิตเมล็ดข้าวผ่านกระบวนการของกลุ่มเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน มีการตรวจสอบรับรอง GAP สำหรับข้าวเปลือกที่จะนำมาทำพันธุ์ข้าว เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จในปี 2557 เกษตรกรชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ จะมีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นคิดเป็นรายได้เข้าสู่จังหวัด เข้าสู่ครัวเรือน ไม่น้อยกว่า 650 ล้านบาทต่อปี
.................................. ดวงใจ หงษ์จันทร์ ข่าว / ภาพ