บทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ด้านสังคม
เรื่อง เรียนรู้การขับรถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัยในสถานการณ์ต่าง
ๆ
เรียบเรียงโดย เพทาย พิศุทธิ์ประภัสสร
.
เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันจำนวนการใช้รถจักรยานยนต์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
อุบัติเหตุที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ก็มีขึ้นอยู่เนือง ๆ
นอกจากการปฏิบัติขับขี่ตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดแล้ว
ยังต้องเพิ่มมาตรการเรียนรู้การขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัยในสถานการณ์ต่าง ๆ
อีกด้วย
นอกจากจะป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วยังช่วยลดความเสียหายหรือสูญเสียให้น้อยลงจากอุบัติเหตุนั้นได้เช่นกัน
ซึ่งอุบติเหตุในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นมีได้หลายกรณี
ผู้ขับขี่ควรเรียนรู้ถึงวิธีการเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวในเบื้องต้น
ดังนี้
กรณีขับขี่รถจักรยานยนต์บนถนนที่มีน้ำมัน คราบน้ำมันพวกนี้ จะทำให้พื้นผิวถนนมีความมันทำให้ลื่นได้ง่าย โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่ต้องใช้การทรงตัว
เมื่อเจอเข้าไปเป็นอันต้องล้มทุกราย วิธีสังเกตง่าย ๆ คราบน้ำมันเหล่านี้เวลาเป็นคราบอยู่บนพื้นถนน
จะทำให้พื้นถนนตรงนั้นคล้ำเป็นพิเศษ มีความมันวาว
แต่บางที่ก็อาจจะเป็นแค่คราบน้ำธรรมดาก็ได้ หรืออาจจะใช้วิธีดมกลิ่นในกรณีที่ ขับไปแล้วได้กลิ่นคล้าย ๆ
กับน้ำมันเครื่องหรือน้ำมันเชื่อเพลิง ก็ให้พยายามชะลอรถเพื่อดูเหตุการณ์ข้างหน้าก่อนว่ารถที่ขับไปข้างหน้านั้นมีรถคันไหนลื่นล้มอยู่หรือมีอาการเสียหลักในการทรงตัว การขับรถช้า ๆ
ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยไม่ให้รถเกิดการลื่นไถลได้ หรือการทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้าก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดอุบัติเหตุได้มาก
ควรให้เปิดไฟฉุกเฉินไว้เตือนรถคันอื่นให้ทราบด้วย
กรณีขับขี่รถจักรยานยนต์บนถนนที่มีน้ำ ควรใช้เกียร์ต่ำเร่งเครื่องรถจักรยานยนต์ให้อยู่ในระดับหนึ่งตลอดเวลา
เมื่อพ้นถนนที่มีน้ำขังแล้ว ให้ใช้เบรคเป็นระยะ ๆ
เพื่อไล่น้ำออกจากระบบเบรกจนเบรกอยู่ในสภาพปกติ ในกรณีที่เครื่องยนต์ดับ ต้องจูงรถไปให้พ้นน้ำแล้วถอดหัวเทียนออกมาเช็ดทำความสะอาดให้แห้ง
ตรวจสอบและทำให้ระบบไฟจุดระเบิดปราศจากความชื้น และนำอุปกรณ์ต่าง ๆ
ประกอบเข้าที่เดิมอย่างถูกต้อง แล้วจึงติดเครื่องยนต์เพื่อใช้งานต่อไป
กรณีเบรคไม่ทำงาน ขั้นแรกตั้งสติให้ดีเสียก่อนจากนั้นลดเกียร์ต่ำสุดเพื่อให้เครื่องยนต์ช่วยเบรค
เมื่อสามารถหยุดรถได้แล้ว ควรเร่งแก้ไขข้อผิดพลาด
และขณะเกิดเหตุควรบีบแตรไว้ตลอดเวลา
เพื่อเตือนให้รถคันอื่นทราบถึงปัญหาที่กำลังประสบ
หากคันเร่งค้าง ปิดกุญแจสวิตซ์หรือดึงสายไฟเพื่อตัดระบบจุดระเบิดเครื่องยนต์
กรณีเครื่องร้อนเกินไป
เครื่องยนต์เกิดความร้อนสูงอาจเกิดจากลูกสูบเกิดอาการฝืด
เกิดเสียงเหมือนใช้เครื่องยนต์ช่วยเบรก (ขณะแล่นอยู่โดยไม่เร่งเครื่อง)
ควรเข้าเกียร์ว่างทันทีเพื่อป้องกันปัญหาเครื่องหยุดทำงาน และแตะเบรกเบา ๆ
ควรรอให้เครื่องเย็นสมควรจึงค่อยตรวจดูน้ำมันเครื่อง และน้ำหล่อเย็น
กรณีเกิดยางรถระเบิด ควรตั้งสติควบคุมรถให้ดี
ใช้เข่าทั้งสองข้างบีบถังน้ำมัน ปล่อยให้รถช้าลงด้วยตัวของมันเองแล้วจึงใช้ห้ามล้อ
และนำรถเข้าจอดในที่ปลอดภัย
หากมีหลุมลึก
หากจำเป็นต้องขับขี่ผ่านหลุมลึกหรือผิวขรุขระมาก ๆ
ควรยืนในลักษณะย่อเข่าเล็กน้อยพร้อมทั้งโยกตัวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับระดับตัวรถที่เอียงเมื่อขับผ่านหลุมหรือเนินต่าง
ๆ จะช่วยควบคุมรถได้ดีกว่าการนั่ง
กรณีเบรกแล้วล้อล็อค สำหรับรถที่ไม่มีระบบ ABS ส่วนมากมักเกิดที่ล้อหลัง เมื่อเกิดการล็อคและลื่นไถลของล้อควรใช้น้ำหนักของเบรกหน้าเพิ่มขึ้นหรือผ่อนเบรกหลังและเพิ่มแรงสลับกันถี่
ๆ เพื่อให้ล้อหมุนกลิ้งกับพื้นถนนให้มากที่สุด
และหากเกิดกับล้อหน้าให้ใช้วิธีเดียวกัน
เพื่อให้สามารถควบคุมทิศทางของรถและลดความเร็วลงได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม
นอกจากการสร้างวินัยในการขับขี่ให้ถูกต้องตามกฎจราจรแล้ว
สิ่งสำคัญการเตรียมตัวให้พร้อมรับในสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ
ที่จะเกิดขึ้นในการขับขี่นั้น ก็เป็นสิ่งสำคัญ
เพื่อป้องกันการเกิดการสูญเสียเริ่มจากตัวเราเสียตั้งแต่วันนี้
เพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัยในอนาคตข้างหน้า
----------------------------------