พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนา
โดยกล่าวถึง การพัฒนาการบริหารงานและการจัดการของรัฐบาล
โดยมีหน่วยงานรัฐต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพใน 2 มิติ คือ ธรรมาภิบาล คุณธรรม
จริยธรรม และการใช้เทคโนโลยีไอซีทีเดิมในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเทคโนโลยีดิจิทัล
ซึ่งจะเป็นหลักฐานประกอบในการทำธุรกรรมของหน่วยราชการ
ทั้งนี้ยังได้กล่าวถึงการบริหารงานของรัฐบาลยุคก่อนปี 2558
ว่ารัฐบาลยุคก่อนเป็นรัฐบาลแมนนวล ซึ่งมีการใช้การประสานงานด้วยวาจาและใช้เอกสารหลักฐานเป็นจำนวนมาก
แต่ปัจจุบันถ้าเปรียบเทียบกัน รัฐบาลดิจิทัลมีการใช้เอกสารลดน้อยลงข้อมูลยังคงอยู่
ในการทำนิติกรรมต่าง ๆ ของประชาชน อาทิ การโอนที่ดิน ในสมัยก่อนต้องมีการใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
ทะเบียนบ้าน หรือหากมีการทำนิติกรรมในลักษณะของมีผู้แทน
ต้องมีเอกสารเพิ่มเติมอย่างครบถ้วน การกู้เงินต้องไปแสดงตัวที่ธนาคาร
ซึ่งถ้าเป็นรัฐบาลแมนนวล ต้องมีการต่อคิว เขียนกรอกคำร้อง
ถ้ามีการไปใช้บริการข้ามหน่วยราชการ ต้องรอนานเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ว่าง
ไม่พร้อม ไม่มีการประสานงานกัน
แต่เมื่อเป็นรัฐบาลดิจิทัลต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวความคิด
มีการปรับเรื่องของฮาร์ดแวร์ ซอร์ฟแวร์ รวมทั้งตัวบุคคล
ซึ่งจะต้องปรับให้เกิดประโยชน์ในการบริหารราชการ รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงมีโรคแมปในการดำเนินการ
ต้องตอบโจทย์การทำงานที่เป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์
ดร.ศักดิ์
เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
ได้บรรยายถึงกรณีภาครัฐไทยมีความพร้อมแค่ไหนกับรัฐบาลดิจิทัล
และรายงานผลการศึกษาประเด็นความสำคัญกับความพร้อมในการเป็นรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย
ซึ่งขณะนี้ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน)
ได้ทำการสอบถามหน่วยงานราชการต่าง ๆ มีการจัดอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของ United Nations e-Government Survey 2016 ประเทศไทยได้อันดับที่ 77 จากทั้งหมด 193 ประเทศ การจัดอันดับของ 2017 Waseda-IAC
International e-Government Ranking Survey จัดให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่
21 จากทั้งหมด 65 ประเทศ ส่วนการจัดอันดับของ DOING BUSINESS 2018 จัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 26
จากทั้งหมด 190 ประเทศในส่วนของระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐไทย
มีการสำรวจส่วนราชการระดับกรม จำนวน 274 กรม และหน่วยงานระดับจังหวัด จำนวน 1,179
หน่วยงาน มีการวัด 6 มิติ ประกอบด้วย 1.นโยบายและแนวปฏิบัติ 2.ศักยภาพเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้านดิจิทัล
3.บริการภาครัฐที่สะดวกเข้าถึงง่าย 4.ระบบบริหารจัดการภายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
5.โครงสร้างพื้นฐานที่มีความมั่นคงปลอดภัยและประสิทธิภาพ
6.เทคโนโลยีอัจฉริยะและการนำมาใช้ ซึ่งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน)
ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูล เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมเพื่อเดินทางไปสู่รัฐบาลดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบต่อไป