นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารจัดการเงินบริจาคและทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
2019 (COVID-19)ได้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคเพื่อรับบริจาคสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
2019 (COVID-19)พ.ศ.2563 ภายใต้หลักการ ดังนี้
1.วัตถุประสงค์
เพื่อรับบริจาคเงินหรือทรัพย์สินในการสนับสนุนการปฎิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกันระงับ
ยับยั้ง การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งการรักษา ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ทุพพลภาพ ผู้พิการ
ผู้เสียชีวิต และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ตลอดจน
ดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นตามที่คณะกรรมการอนุมัติ
2.การให้ความช่วยเหลือ
เงินบริจาคหรือทรัพย์สินให้นำไปใช้ได้แต่เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
2.1
ค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันหรือบรรเทาความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้น เช่น
ค่าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์อื่น ๆ อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการคัดกรอง
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการ ค่าใช้จ่ายในการจัดสร้าง บริหารจัดการ
ในการแยกกัก กักกัน รวมทั้งค่าชดเชยรายได้
ค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
2.2 ค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อ ค่ารักษา
ค่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และการฟื้นฟูสมรรถภาพอันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
((COVID-19)
2.3
ค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพ พิการ หรือเสียชีวิต
2.4 ค่าใช้จ่ายในการรับ จัดเก็บ
บรรจุหีบห่อและค่าขนส่งวัสดุสิ่งของสำหรับช่วยเหลือ
2.5 เงินทุนเลี้ยงชีพ
2.6
ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์
และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันในกรณีต้องเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา
2019 ((COVID-19)
2.7 รายจ่ายอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการอนุมัติ
3.การรับบริจาคสิ่งของ
เนื่องจากขณะนี้การแพร่ระบาดของโรคยังอยู่ในสภาวการณ์ที่ยังไม่วิกฤตถึงขั้นขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค
ในขั้นนี้จึงขอเปิดรับบริจาคเฉพาะหน้ากากอนามัย
และวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์
เว้นแต่สถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงและหน่วยงานใดมีความประสงค์ที่จะขอรับบริจาคสิ่งของอื่นใดเพิ่มเติม
โดยศูนย์ข้อมูล COVID-19
จะส่งมอบของที่ได้รับบริจาคให้กระทรวงสาธารณสุขและกรมการค้าภายในนำไปบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
2019 (COVID-19) ต่อไป