นายพินิจ
เจริญเร็ว
หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดราชบุรี
เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี
เตรียมความพร้อมรับวิกฤติภัยแล้งโดยร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอ
จัดทำเวทีชุมชนเพื่อจัดทำโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกร
ตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้งปี 2558/59 เป็นโครงการเกี่ยวกับการปลูกพืชใช้น้ำน้อยที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน
ระยะที่ 1 และจังหวัดราชบุรีได้มีการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน
และเจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งจังหวัดราชบุรี
เพื่อพิจารณาโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง
ตามที่คณะกรรมการกลั่นรองระดับอำเภอเสนอ จำนวน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองราชบุรี
โพธาราม บ้านโป่ง วัดเพลง ปากท่อ
และจอมบึง รวมจำนวน 27 ตำบล
การจัดทำแผนชุมชนครั้งนี้
มีเกษตรกรเสนอโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ส่วนใหญ่ได้แก่โครงการปลูกถั่วเขียว จำนวน
14,307 ไร่ นอกนั้นเป็นถั่วเหลือง ข้าวโพดฝักสด ผักบุ้งจีน กะหล่ำดอก และแคนตาลูป
นอกจากนี้การดำเนินงานตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรระยะสอง
ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรเสนอโครงการ/กิจกรรมด้านการเกษตรอื่น ๆ
หรืออาชีพนอกภาคเกษตรได้ เช่น การจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
การผลิตหรือการแปรรูป การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดความสูญเสียผลผลิต
การสร้างแหล่งอาหารชุมชน การพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ หรือการจ้างงาน เพื่อมุ่งเน้นให้เกษตรกรมีรายได้ช่วงฤดูแล้ง
และเกิดการดำเนินงานอย่างยั่งยืนโดยจัดทำโครงการเสนอผ่านคณะกรรมการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล(ศบกต.)ภายในต้นเดือนธันวาคม
2558 นี้
เกษตรกรผู้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย
ต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำว่ามีเพียงพอตลอดฤดูกาลเพาะปลูกหรือไม่
เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับพืชที่ปลูก นอกจากนี้แล้วขอให้เกษตรกรระวังผลกระทบจากน้ำเค็มที่ไหลเข้าสู่พื้นที่การเกษตร
ในเขตพื้นที่ปากแม่น้ำแม่กลอง จากการที่ปริมาณน้ำจืดต้นน้ำเหนือเขื่อนน้อย
ทำให้น้ำทะเลหนุน จะส่งผลทำให้พืชได้รับผลกระทบ มีอาการปลายใบไหม้ ต้นเหี่ยวเฉา
ใบเหลือง เหมือนพืชชาดน้ำ ช่อดอกไม่พัฒนาต่อ ถ้าพบคราบขี้เกลือสีขาวปรากฏอยู่ ขอให้เกษตรกรรีบปิดทางน้ำเข้าสวนตัวเองและอุดรูรั่ว
พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ และติดตามสถานการณ์เตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยา
กรมชลประทาน และกรมส่งเสริมการเกษตรอย่างใกล้ชิด