ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้วก่อนวันที่
๒๙ มีนาคมซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องแล้วเสร็จ หลายฝ่ายทั้งนักการเมือง
นักวิชาการ ตลอดจนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
(สปท.)ท้วงติงหลายเรื่อง อาทิ วิธีเลือกตั้งกับการกาบัตรใบเดียว ที่มาของ ส.ว.ซึ่งนายเสรี
สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวถึงที่มาของ
ส.ว.ว่า หาก กรธ.ต้องการให้ ส.ว.มีประโยชน์ ต้องกำหนดคุณสมบัติและคุณภาพที่เหมาะสมคือ
มาจากการสรรหาทั้งหมด หรือในเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ กรธ.กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอบัญชีผู้จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(กกต.) ๓ คนนั้น ถือเป็นการปิดกั้น แต่หากเกิดวิกฤตน่าจะเป็นทางออกได้
หรือหากเกิดวิกฤตให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว สิ่งที่
กรธ.เสนอเป็นเรื่องที่อยู่บนพื้นฐานความจริง หรือที่มาขององค์กรอิสระ
โดยเฉพาะการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ในมาตรา ๗ เดิมของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐
ไม่อยู่ในหมวดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา ๒๐๗
อย่างไรก็ตาม เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นต้องทำประชามติตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
พ.ศ. ๒๕๕๗ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา ๓๙/๑
กำหนดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน ๑๘๐ วัน
และเมื่อแล้วเสร็จให้แจ้งคณะรัฐมนตรีทราบ และให้ ครม.แจ้งคณะกรรมการเลือกตั้ง
(กกต.) ทราบโดยเร็ว โดยให้เป็นหน้าที่ กกต.ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ ตามหลักเกณฑ์
วิธีการ และเวลาที่ประกาศโดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
เท่ากับว่า กกต.ต้องเป็นผู้ออกประกาศระเบียบการออกเสียง
ประชามติขึ้นใหม่
เพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่มีผลใช้บังคับแล้ว
นางสดศรี สัตยธรรม อดีต
กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ ให้ความเห็นว่า
ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๕๗ ระบุให้ชัดว่าเสียงข้างมากในการทำประชามติเป็นเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ
หรือเสียข้างมากผู้มีสิทธิออกเสียง การทำประชามติเมื่อปี ๒๕๕๐ สภาร่างรัฐธรรมนูญ
(ส.ส.ร.) ระบุชัดว่าเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง
นอกจากนี้ ระเบียบที่ กกต.จะออกมาและรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๕๗ ยังไม่ได้แก้ไขเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ
นายมีชัย ฤชุพันธุ์
ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ
กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานภายหลังเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นว่า
อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ ต้องรับฟังให้ครบถ้วนก่อนพิจารณา และการอภิปรายเสนอประเด็นร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
(สปท.) บางความเห็นยังเข้าใจคลาดเคลื่อน และมีหลายมุมมองสะท้อนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากจนนำมาสู่ทางตัน
เบื้องต้นคงจะพิจารณาว่าสิ่งใดปรับแก้ได้ กรธ.พร้อมดำเนินการ
และพร้อมชี้แจงสิ่งที่เข้าใจผิด
อีกทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายก่อนดำเนินการในขั้นตอนการทำประชามติต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามโรดแมปที่กำหนดไว้เดิม ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยัน และเริ่มกระบวนการเลือกตั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
กล่าวถึงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญว่า ภาพรวมรับได้ เนื้อหาบางอย่างต้องเพิ่มเติม
ขณะที่เรื่องของความมั่นคงไม่มีการปรับแก้ไข ทั้งนี้
ร่างรัฐธรรมนูญได้มีการรวบรวมส่งคณะรัฐมนตรีในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙.
....................................