ตามนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนเรื่องการทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)
ได้พิจารณาพื้นที่ที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินที่มีการผลิตสินค้าชนิดเดียวกันเพื่อรวมการผลิตเป็นแปลงใหญ่
โดยมีพื้นที่ขนาด 300-5000 ไร่ แต่ละพื้นที่จะพิจารณาองค์ประกอบร่วม 3 อย่างคือ
ตัวเกษตรกร
ชนิดของสินค้าเกษตรที่จะปลูกและการรวมกลุ่มของเกษตรกรทั้งในรูปของวิสาหกิจชุมชน
กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์ จากการสำรวจพบว่ามีพื้นที่ในเขต ส.ป.ก.
ที่มีศักยภาพที่จะเข้าร่วมโครงการได้ 22 พื้นที่ ใน 22 จังหวัด
รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมด 92,706 ไร่ หนึ่งในพื้นที่ดังกล่าวได้ให้การสนับสนุนเกษตรกรบ้านหนองแหน
อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร พัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคขุน
เพื่อสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงให้เกษตรกรในพื้นที่กว่า 200 ครอบครัว
นายสรรเสริญ
อัจจุตมานัส เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)
กล่าวว่ากลุ่มโคขุนหนองแหน
ได้เข้าร่วมโครงการทำการเกษตรในพื้นที่แปลงใหญ่ โดย ส.ป.ก.
ได้ส่งเสริมพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคขุน เพราะจากการสำรวจพื้นที่พบว่าเป็นพื้นที่เหมาะสมในการเลี้ยงโคขุน
และได้พัฒนาศูนย์เรียนรู้เนื่องจากสามารถเป็นแบบอย่างในการบริหารจัดการ
เพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรโดยเฉพาะการเลี้ยงโคขุน ควบคู่การปลูกมันสำปะหลัง
และยางพารา
ด้าน
นายสุพี วงศ์พิทักษ์ ประธานกลุ่มโคขุนหนองแหน
กล่าวว่าได้รวบรวมกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในชุมชน จัดตั้งเป็นกลุ่มโคขุนหนองแหน
และตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกร
ซึ่งส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องการเลี้ยงโคที่ถูกต้อง
เทคนิคการขุนโคให้ได้เนื้อคุณภาพดี
โคที่เหมาะสำหรับเลี้ยงในสภาพภูมิอากาศของไทย ได้แก่ โคพื้นเมือง 25% โคบราห์มัน 25% โคสายพันธุ์ยุโรป 50%
โคที่เลี้ยงขุนควรมีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ทำการถ่ายพยาธิโคก่อนขุน โดยจะใช้ระยะเวลาขุนอย่างน้อย
3 เดือน จึงนำมาชำแหละ แล้วบ่มซากในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 3 องศาอย่างน้อย 7
วัน (ส่งโพนยางคำ)
แต่ถ้าขุนขายตลาดโคขุนทั่วไป จะใช้เวลาเลี้ยงขุนเพียง 3 เดือน ขั้นตอนวิธีขุนโคจะขังโคไว้ในคอกตลอดเพื่อให้ได้ใช้กำลังน้อยที่สุด
และเลี้ยงด้วยอาหารข้นหรือกากน้ำตาลเป็นหลัก เพื่อให้โคสร้างเนื้อและไขมันแทรกในเนื้อ
โดยไม่ใช้ฮอร์โมนและสารเร่งโต จะทำให้เนื้อมีความนุ่มและรสชาติอร่อย
พร้อมให้ความสำคัญในเรื่องสุขอนามัยสัตว์ ดูแลรักษาความสะอาดภายในฟาร์ม
ฆ่าเชื้อโรคภายในโรงเรือนเป็นประจำโดยใช้น้ำหมักชีวภาพที่ทำเองจากวัตถุดิบในท้องถิ่น
ส.ป.ก.
ได้ให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนร่วมกับกรมปศุสัตว์ในการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคขุนควบคุมกันไปโดยเฉพาะการยกระดับให้เป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อให้เกษตรกรที่ยังไม่ตัดสินใจยึดอาชีพในการเลี้ยงโค
เข้ามาศึกษา หาความรู้ และเทคนิคต่าง ๆ ในการเลี้ยงโคขุน และประการสำคัญ ส.ป.ก.
ยังให้การการสนับสนุนแหล่งเงินกู้ให้กับเกษตรกรรายละ 80,000 บาท ระยะเวลา 2 ปี
เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงต่อไปในอนาคต
ท่านผู้ฟังสามารถส่งไปรษณียบัตร แสดงความคิดเห็น
แนะนำรายการได้ที่
ส่วนการประชาสัมพันธ์
สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ ถนนพระราม ๖
เขตพญาไท กรุงเทพ
๑๐๔๐๐ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ ๐๒-๖๑๘-๒๓๒๓ ต่อ ๑๖๒๖-๒๗