มท1.ลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ตรวจติดตามการแก้ปัญหาภัยแล้ง หลังพบว่าในหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก หนองน้ำผลิตประปาหมู่บ้านแห้งขอด พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือเร่งด่วน
วันที่ 10 พ.ค.56 นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางไปตรวจติดตามการแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่หนองน้ำบ้านทนงรัตน์ หมู่ที่ 8 เพื่อดูสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยมีนายนิรันดร์ กัลป์ยานมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชาวบ้านให้การต้อนรับ พร้อมรับฟังข้อมูลการบริหารจัดการน้ำของหมู่บ้าน ที่มีอยู่กว่า 80 หลังคาเรือน แต่แหล่งน้ำที่ใช้ทำประปาหมู่บ้านกลับแห้งขอดไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้เพียงพอ ทางองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้เพียงเจาะบาดาลขนาดเล็กเพื่อดึงน้ำไปใช้ผลิตประปาแต่ก็ไม่สามารถรองรับต่อความต้องการได้ ชาวบ้านในพื้นที่เดือดร้อนหนัก เนื่องจากต้องใช้น้ำในหนองน้ำผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน โดยทางเทศบาลตำบลเมืองที ได้ของบประมาณจำนวนกว่า 2 ล้านบาท เพื่อทำการขุดลอกหนองน้ำลึกลงไปอีกประมาณ 3 เมตร เพื่อจะได้กักเก็บน้ำไว้ได้
จากนั้นได้เดินทางมายังโรงเรียนบ้านทนงชัย หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อพบปะชาวบ้านและรับทราบการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของจังหวัดสุรินทร์ โดยจังหวัดสุรินทร์ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ภัยแล้ง จำนวน 17 อำเภอ 135ตำบล 1,704 หมู่บ้าน 157,184 ครัวเรือน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 449,158 คน โดยในปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและฝายชลประทานขนาดกลางในเขต จ.สุรินทร์ ทั้ง 18 แห่ง มีปริมาณน้ำที่มีอยู่ปัจจุบันวัดได้ 56.829 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39.17 ของความจุทั้งหมด 145.079 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับแม่น้ำสายหลัก/ลำน้ำสาขา และแหล่งน้ำดิบในพื้นที่มีปริมาณน้ำลดลงอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก บางพื้นที่ไม่มีน้ำเพียงพอในการผลิตน้ำประปาหมู่บ้านทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค
จังหวัดสุรินทร์ ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ภัยแล้ง จำนวน 17 อำเภอ 135 ตำบล 1,704 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 80.38 ของพื้นที่ทั้งหมด ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน 157,184 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 48.52 ของครัวเรือนทั้งหมด ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 449,158 คน
สำหรับในปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและฝายชลประทานขนาดกลางในเขต จังหวัดสุรินทร์ ทั้ง 18 แห่ง มีปริมาณน้ำที่มีอยู่ปัจจุบันวัดได้ 56.829 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 39.17 ของความจุทั้งหมด 145.079 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำที่สำคัญในการผลิตน้ำประปาและด้านการเกษตรของอำเภอเมืองสุรินทร์ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ปริมาณน้ำปัจจุบันวัดได้ 4.06 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 20.06 สำหรับแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขา และแหล่งน้ำดิบในพื้นที่มีปริมาณน้ำลดลงอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก บางพื้นที่ไม่มีน้ำเพียงพอในการผลิตน้ำประปาหมู่บ้านทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ปัจจุบัน จังหวัดสุรินทร์ มีเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง จำนวน 23,771 ราย รวมเนื้อที่เพาะปลูกทั้งหมด 93,669.25 ไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 67,099.25 ไร่ , พืชไร่ 18,642.00 ไร่ , พืชผัก 7,814 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 87,647 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 94 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด และไม่มีรายงานความเสียหาย
โดยทางจังหวัดได้เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งนั้นจังหวัดสุรินทร์ได้แบ่งพื้นที่ Zoning เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยมีรถบรรทุกน้ำ จำนวน 124 คัน และเครื่องสูบน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 24 เครื่อง และได้แจกจ่ายน้ำอุปโภค-บริโภค ให้แก่ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคในพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 7,653 เที่ยว ปริมาณน้ำ 46,417,400 ลิตร โดยใช้งบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและงบอื่นๆ 3,377,500 บาท และจังหวัดสุรินทร์ได้ดำเนินการประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดสุรินทร์ แล้ว จำนวน 3 ครั้ง โดยประชุมเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลืออำเภอที่ประสบภัยแล้งด้านการเกษตร จำนวน 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขวาสินรินทร์ จอมพระ ท่าตูม เมืองสุรินทร์ ศรีณรงค์ ศีขรภูมิ สำโรงทาบ นาข้าวเสียหาย 95,178.25 ไร่ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบกลาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเงิน 58,005,259.50 บาท
นอกจากนั้น จังหวัดสุรินทร์ ยังได้จัดทำแผนงาน / โครงการเพื่อเสนอขอสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2556 จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดังนี้ โครงการขุดเจาะบ่อบาดาล จำนวน 85 โครงการ 85 บ่อ , โครงการขุดลอกแหล่งน้ำ จำนวน 80 โครงการ งบประมาณ 190,474,940 บาท , ความต้องการถังน้ำกลางขนาด 3,000 ลิตร จำนวน 6,700 ใบ งบประมาณ 127,300,000 บาท
ด้านนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนมากในเรื่องของภัยแล้ง และภัยธรรมชาติต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเร่งดำเนินการแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องของภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ อีกทั้งมีการของบประมาณกว่า สามแสนห้าหมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวต่อไป ในขณะเดียวกันก็ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยเร่งด่วน....
กำชัย วันสุข ส.ปชส.สุรินทร์ ข่าว/อนุสรณ์ ขุนทวี ภาพ |