ชาวบ้านปันรัวจังหวัดสุรินทร์ จัดงาน "ฮาวปลึงกระแบร์ย ประเพณีสู่ขวัญควายเพื่อระลึกถึงคุณประโยชน์และเป็นสิริมงคลสร้างขวัญกำลังใจก่อนเริ่มฤดูทำนา ที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน บ้านปันรัว หมู่ที่ 5 ต.ตาเบา อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ นายเกษมศักดิ์ แสนโภช อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดงาน "ฮาวปลึงกระแบร์ย ประเพณีพิธีสู่ขวัญควาย ประจำปี 2561 ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานตามวิถีเกษตรกรรมแบบพึ่งพาตนเอง เนื่องจากสมัยก่อนการทำนาต้องใช้แรงงานควายหรือกระบือไถนา และถือเป็นสัตว์ที่ทำคุณประโยชน์แก่ชาวนาเป็นอันมาก ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นให้ความสำคัญรักษาประเพณีอันดีงาม พร้อมทั้งเป็นการระลึกถึงคุณประโยชน์ของกระบือและสร้างขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพทำนาของเกษตรกร โดยมีพี่น้องเกษตรกร ประชาชนในตำบลตาเบา เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยก่อนพิธีเปิดงานได้ให้ประธาน และคณะนั่งเกวียนเทียมกระบือ แห่ขบวนจากปากทางเข้าหมู่บ้านมาสู่สถานที่จัดงาน ก่อนประกอบพิธีสู่ขวัญกระบือ เซ่นไหว้ ผีปู่ย่า ผีตายาย ด้วยอาหารคาวหวาน เหล้า น้ำดื่ม ผล ไม้ ข้าวสุกข้าวสวย โดยมีหมอพราหมณ์ และผู้อาวุโส ร่วมพิธีการเรียกขวัญกระบือ พร้อมทั้งเลี้ยงอาหารแก่กระบือ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการเลี้ยงกระบือของชาวบ้านปันรัว พร้อมมีการประกวดควายสวยงาม และการแข่งขันไถนาด้วยควายกันอย่างคึกคักสนุกสนานด้วย งานประเพณีสู่ขวัญควาย หรือฮาวปลึงกระแบร์ยเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรโดยเฉพาะ การทำไร่นา ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์ อย่างชาวหมู่บ้านปันรัว หมู่ที่ 5 ต.เบา อ.ปราสาท เมื่อเริ่มย่างเข้าเดือน 6 หรือวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 6 ชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่หมู่บ้านอนุรักษ์พันธุ์กระบือไทย เพื่อเริ่มการทำพิธีเซ่นเจ้าที่เจ้าทาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ วิญญาณปู่ย่าตายาย เพื่อขอพรและความเป็นสิริมงคลในการเริ่มฤดูกาลเพาะปลูก รวมถึงทำพิธีฮาวปลึงกะแบร์ย หรือ กระใบ หรือพิธีสู่ขวัญควาย ซึ่งชาวบ้านได้ยึดถือปฏิบัติกันมาช้านานจนถึงปัจจุบัน สำหรับเครื่องที่ใช้เซ่นไหว้จะเป็นเครื่องคาวหวานทั่วไปที่ชาวบ้านจัดหามาเอง จากนั้นจะร่วมกันไปเซ่นศาลปู่ตา เพื่อบอกกล่าวและนำมารวมกันที่ศาลากลางหมู่บ้านเพื่อทำพิธีเซ่นไหว้และสู่ขวัญควายต่อไป "บ้านปันรัว เป็นหมู่บ้านที่มีกระบือจำนวนมาก เมื่อปี 2543 มีกระบืออยู่ถึง 600 ตัว และได้รับรางวัลหมู่บ้านอนุรักษ์และพัฒนาควายแห่งชาติระดับประเทศ การทำนาของชาวบ้านที่ผ่านมาจะใช้แรงงานควายเป็นหลัก แม้ปัจจุบันที่ความเจริญทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย การใช้ควายทำนาจะน้อยลงแต่ชาวบ้านยังคงอนุรักษ์กระบือไทยไว้ ซึ่งมีอยู่กว่า 300 ตัว และที่สำคัญยังคงประเพณีฮาวปลึงกระแบร์ย หรือกระใบ ไว้อย่างเหนียวแน่นตลอดมา