เกษตรจังหวัดสุรินทร์จัดงานสาธิตการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สานพลังประชารัฐถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา มั่นใจจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น คาดพื้นที่เป้าหมายที่ให้ความสนใจจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
วันที่ 21 ธ.ค.61 ที่บ้านดงมัน หมู่ 8 ต.คอโค อ.เมือง จ.สุรินทร์ นายวันรบ เฮ่ประโคน เกษตรจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดโครงการสาธิตการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามโครงการประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลุกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลังฤดูทำนา โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่มีมูลค่าส่งออกประมาณ 80,000 ล่านบาทต่อปี ให้เกษตรกรมีรายได้เสริมและอาจเป็นรายได้หลัก และคาดว่าผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังมีความต้องการสูงในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ประมาณ 8 ล้านตัน ในขณะที่ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตได้ในประเทศมีเพียง 5 ล้านตัน ทำให้ต้องนำเข้าพืชวัตถุดิบอื่นทดแทน ด้วยเหตุนี้จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีพื้นที่ทำนาส่วนใหญ่ที่ต้องอาศัยน้ำฝนและทำนาปีละครั้ง จากนั้นพื้นที่นาจะถูกทิ้งว่างไว่อย่างเปล่าประโยชน์ เกษตรกรมีรายได้จากการทำนาเพียงอย่างเดียว และไม่มีรายได้อื่นหลังจากฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้เกษตรกรมีปัญหาหนี้สินเนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูง ราคาผลผลิตตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด เกษตรกรยังคงยากจน
ภาครัฐได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยจัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพิ่มพื้นที่ปลูกในพื้นที่ในพื้นที่ปลูกหลังนา ซึ่งเป็นฤดูแล้ง เหมาะสมกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้มีผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และเป็นรายได้ให้เกษตรกรหลังฤดูทำนา ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ"การตลาดนำการผลิต" การบริหารจัดการสินค้าเกษตร สร้างความสมดุลทางการตลาด การเพิ่มมูลค่าสินค้า การเชื่อมโยงการผลิตการตลาดภาครัฐและเอกชน เพื่อต้องการที่จะสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
การจัดการสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีเกษตรกรในพื้นที่ชลประทาน 10 อำเภอ จาก 17 อำเภอของจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 320 คน เข้าสถานีให้ความรู้การถ่ายทอดเทคโนโลยีจำนวน 4 สถานี ประกอบด้วย สถานีการเตรียมดินและการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สถานีการให้ปุ๋ย-การให้น้ำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สถานีโรคและแมลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสถานีการตรวจวิเคราะห์ดิน คาดว่าเมื่อเกษตรกรเข้ารับการถ่ายทอดความรู้แล้วจะสามารถนำไปปฏิบัติในไร่นาของตนเองได้
นายวันรบ เฮ่ประโคน เกษตรจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ทางรัฐบาลและจังหวัดสุรินทร์ มั่นใจว่าการทำโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์น่าจะตอบโจทย์กับเกษตรกรหลังจากทำนา เพราะข้าวโพดเป็นพืชที่มีตลาดรองรับ เนื่องจากการส่งเสริมจะมีคนรับซื้อ ซึ่งจังหวัดสุรินทร์มีพื้นที่ตั้งเป้าและเกษตรกรสนใจประมาณ 4,800 ไร่ ปัจจุบันการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของจังหวัดสุรินทร์ มีประมาณเกือบ 2,000 ไร่ มั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่จะเป็นทางออกทางหนึ่งให้เกษตรกรมีรายได้ และถ้าการดำเนินโครงการในปีเป็นผลดี จะทำให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชหลังฤดูทำนาเพิ่มมากขึ้น และหลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่ติดตามช่วยเหลือการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ให้ประสบผลสำเร็จมากขึ้น