จังหวัดสุรินทร์ รณรงค์เกษตรกรนำเครื่องจักรกลทางการเกษตรมาใช้ในการตัดอ้อยสดส่งโรงงาน ลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ตั้งเป้า เป็นจังหวัดที่มีการเผาอ้อยเป็นศูนย์ ในปีการผลิต 2565/2566
วันนี้(24 ก.พ 63) นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยส่วนราชการ สามาคมชาวไร่อ้อยและเกษตรกรในพื้นที่บ้านสวายทอง ตำบลกังแอน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ร่วมชมการสาธิตการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยทางโรงงานน้ำตาลสุรินทร์และบริษัทเอกชน ได้นำรถตัดอ้อย และเครื่องสางใบอ้อย มาทำการสาธิตให้ได้ชมและพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางการลดการเผาอ้อยสดก่อนตัดส่งโรงงาน เนื่องจากอ้อยไฟไหม้ ทำให้เกิดผลเสียหายทั้งคุณภาพอ้อยสูญเสียน้ำหนักและคุณภาพความหวาน อ้อยตัดไฟจะถูกตัดราคาอ้อน 30 บาทต่อตัน รวมถึงทำให้สูญเสียอินทรียวัตถุบำรุงดิน หน้าดินแห้ง อ้อยงอกช้าและทำให้ตออ้อยถูกทำลาย ส่งผลให้ต้องเพิ่มต้นทุน 700-1,000 บาท ในการซื้อสารเคมีกำจัดวัชพืชและการให้น้ำในไร่อ้อย และที่สำคัญยังก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและมลพิษทางอากาศ เกิดควันและฝุ่นละออง PM2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า จังหวัดสุรินทร์ ได้จัดทำยุทธศาสตร์การผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2563-2565 โดยกำหนดวิสัยทัศน์ว่า "เป็นจังหวัดที่มีการเผาอ้อยเป็นศูนย์(Zero Burning) ในปีการผลิต 2565/2566 โดยให้ทางสมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลไปหารือในการที่จะจัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตรมาสนับสนุนชาวไร่อ้อย โดยนำเครื่องสางใบมาใช้ จะทำให้สามารถตัดอ้อยสดได้ง่ายขึ้น แต่เกษตรกรจะต้องปรับพื้นที่การปลูกให้มีระยะห่างขึ้น ส่วนรถตัดอ้อย ซึ่งมีราคาแพง ทางโรงงานน้ำตาล ได้นำมาสนับสนุน แต่อาจจะให้บริการได้ไม่ทั่วถึง จึงได้มอบหมายให้นายอำเภอทุกอำเภอ ไปส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มและปรับเปลี่ยนการปลูกอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่ มีการวางแผนการผลิตและกำหนดเป้าหมายพื้นที่การปลูก ขณะเดียวกัน ทางโรงงานน้ำตาลจะต้องมีมาตรการด้านราคารับซื้ออ้อยไฟไหม้กับอ้อยสด ราคาจะต้องห่างกันมากขึ้น เพื่อสร้างแรงงจูงใจให้เกษตรกรหันมาตัดอ้อยสดและลดการเผาไร่อ้อย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่อายุมากขึ้น แรงงานคนหายากขึ้น อยากเห็นเกษตรกรคิดใหม่ ทำใหม่ จึงขอความร่วมมือให้หันมาใช้เทคโนโลยีการผลิตอ้อยที่เหมาะสม นำเครื่องทุ่นแรงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต และลดปัญหาการเผาไร่อ้อยลงได้ในที่สุด