จังหวัดสุรินทร์ส่งมอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติให้กับภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน
ที่ห้องประชุมขุนสุขกิจภักดี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ นางจันทร์เพ็ญ กิติภัทย์พิบูลย์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ นายแพทย์ภูวเดช สุระโคตร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ร่วมมอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ AED เพื่อให้กับภาครัฐและเอกชน ซึ่งในปัจจุบัน ภาวะความรุนแรงจากการหยุดหายใจเฉียบพลัน เป็นเรื่องที่เกิดเป็นกรณีฉุกเฉินมากขึ้น เช่น ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งในบางรายที่มีกิจกรรม เช่นการออกกำลังกาย เกิดสภาวการณ์ช็อคหมดสติ หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และหลายรายสุดวิสัยที่จะรอดชีวิต เนื่องจากการช่วยเหลือการฟื้นคืนชีพที่รวดเร็ว โดยอย่างถูกต้องเบื้องต้น ด้วยผู้อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุช่วยฟื้นคืนชีพโดยการกดหน้าอกนวดหัวใจหรือ CPR และหากหัวใจหยุดเต้น มีการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติหรือ AED ซึ่งเครื่อง AED จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูงมากขึ้น แต่เนื่องจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหรือภาคประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดแคลนเครื่อง AED ซึ่งจากการสำรวจมีเพียง 56 เครื่องเท่านั้น และในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในพื้นที่ต่างๆ อาจเคลื่อนย้ายจากจุดที่มีเครื่องล้าช้าเกินไป
จากโครงการวิ่งกระตุกหัวใจ 125 ปี สภากาชาดไทยโดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย องค์ประธานหารายได้ในการจัดซื้อเครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้า (AED) ส่งต่ออุปกรณ์ช่วยชีวิต กู้ชีวิตประชาชนไปยังส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศภายในยามฉุกเฉิน ทำให้จังหวัดสุรินทร์ได้มีโอกาสรับเครื่อง AED สำหรับช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤต จำนวน 21 เครื่อง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณในพระเมตตาขององค์อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทยที่ทรงมีต่อปวงประชาและจังหวัดสุรินทร์
ซึ่งเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ โรงพยาบาลสุรินทร์ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมประชุมพิจารณาจุดติดตั้งเครื่องตามหลักเกณฑ์ ได้แก่ เป็นจุดรวมประชาชน มีสถานที่ติดตั้ง มีผู้รับผิดชอบดูแลประชาชนเข้าถึงง่าย เชื่อมต่อ 1669 หรือโรงพยาบาลได้รวดเร็ว และมีมติให้ติดตั้ง ณ ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง สถานีรถไฟ สถานีขนส่งจังหวัดสุรินทร์ ตลาดสดเทศบาลเมืองสุรินทร์ ทั้งหมดจำนวน 21 จุด กำหนดความร่วมมือในการดูแลเครื่อง AED โดยหน่วยงานผู้ดูแลจุดติดตั้งเครื่อง AED ร่วมกับ โรงพยาบาลทุกแห่ง และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งเป็นครั้งแรกในการติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่ส่วนราชการอื่น และพื้นที่สาธารณะที่มีประชาชนมาใช้บริการ โดยจะได้รับการอบรมเบื้องต้นจากวิทยากรผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร ครูผู้สอนการปฐมพยาบาล รายการกู้ชีพขั้นพื้นฐานในการใช้เครื่องช่วยฟื้นคืนชีพการใช้และติดตั้งเครื่อง AED ให้ไปใช้เมื่อเกิดเหตุวิกฤติกับประชาชนต่อไป